วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ละครชีวิตยามค่ำคืน “โสเภณี สนามหลวง – คลองหลอด”


ละครชีวิตยามค่ำคืน “โสเภณี สนามหลวง – คลองหลอด”
“ท้องสนามหลวง” เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นลานโล่งกว้างใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฯลฯ รวมถึงเป็นที่สร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทยรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงมาแล้วทุกยุคทุกสมัย เดิมสนามหลวงมีชื่อว่า  “ ทุ่งพระเมรุ ” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4)ทรงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อจาก ทุ่งพระเมรุ ซึ่งฟังดูไม่เป็นมงคลให้เป็นชื่อที่พวกเราคุ้นหูกันดีนั่นก็คือ “ท้องสนามหลวง
หากเปรียบสนามหลวงเป็นคน สนามหลวงก็น่าจะเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุขมาอย่างยาวนาน และมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลง มองเห็นความเป็นไปของบ้านเมืองมาทุกยุคทุกสมัยและถ้าหากเปรียบสนามหลวงเป็น “โรงละครโรงใหญ่” สนามหลวงก็คงจะเป็นโรงละครที่ไม่เคยรูดม่านปิดฉากไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือเวลากลางคืน
เมื่ออาทิตย์เคลื่อนผ่านลงพ้นขอบเมฆ ฝูงนกประจำถิ่นเริ่มบินกลับรังนอน แสงไฟรอบๆท้องสนามหลวงเริ่มสว่างขึ้น นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า “ละครชีวิต” ในโรงละครใหญ่แห่งนี้ในฉากยามค่ำคืนกำลังจะเปิดฉากขึ้น ตัวละครนิรนามจำนวนหนึ่งที่แฝงเร้น ซ่อนตัวอยู่ในเวลากลางวันของท้องสนามหลวง ค่อยๆตื่นขึ้นจากการหลับใหล ผลักร่างตนเองขึ้นตามซอกมุมต่างๆของท้องสนามหลวงเพื่อที่จะนำพา ละครชีวิต ร้อง เล่น เต้น ไปตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายจากโชคชะตา
หลายชีวิตบนท้องสนามหลวง ผู้คนเหล่านี้เหล่านี้มีชีวิตอยู่แต่แทบไม่ถูกมองเห็น หรือ ถูกมองเห็นแต่ก็ถูกมองเห็นอย่างไร้คุณค่าเหมือนกับไม่มีตัวตนในสังคม ละครชีวิตบนท้องสนามหลวงแทบจะไม่แตกต่างอะไรกับย่านการค้าสำคัญหลายๆแห่งในกรุงเทพมหานครฯ ที่ยิ่งดึกยิ่งเต็มไปด้วยความคึกคัก แต่มิใช่สินค้าที่ถูกวางอย่างมากมายกลับกลายเป็นเหล่าบรรดาคนจรจัด ผู้ยากไร้ และรวมไปถึง โสเภณี
บนถนนสายธุรกิจกามอารมณ์ที่หมองหม่นและแฝงกลิ่นอายบาปจากบริเวณรอบสนามหลวง ข้ามไปถึงริมคลองหลอดทอดยาวเข้าไปในตรอกซอกซอย ที่เหล่าโสเภณีต้องเดินเข้าออกคืนแล้วคืนเล่า มีเหยื่อเนื้ออ่อนของชายนักท่องเที่ยวทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ยืนเรียงรายอยู่ข้างทางไม่ต่ำกว่า 100-200 คนในแต่ละคืน มีตั้งแต่โสเภณีวัยกระเตาะ เด็กสาวแรกรุ่น สาวใหญ่วัย 30 ขึ้นไป จนถึงผู้หญิงวัยกลางคน ยืนเฝ้ารอลูกค้าคนสำคัญที่จะแวะเข้ามาเยี่ยมเยียน และเป็นแหล่งรายได้ของพวกเธอ
บทบาทในยามค่ำคืนของบรรดาโสเภณีบริเวณสนามหลวง-คลองหลอด หรือ ที่ผู้คนให้ฉายาว่า  “ผีขนุน-ผีมะขาม” นั้น ดำเนินไปอย่างราบเรียบ จำเจ พวกเธอตัดสินใจพร้อมที่จะนำเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอมาให้ชายหนุ่มเสพสุข เพื่อ แลกกับเม็ดเงินเพียง 300-700 บาท และเด็กสาวบางกลุ่ม ต้องเสียค่านายหน้าให้กับเหล่าบรรดา “แม่” ของพวกเธออีกต่างหาก เหล่าบรรดา ผีขนุน ผีมะขามทั้งหลาย ดำเนินชีวิตตามบทละครที่ไม่มีผู้กำกับสั่ง “คัท” พวกเธอดำเนินเรื่องไปตามบทบาทแห่งโชคชะตา(กรรม)
ฝาผนัง เพดานห้อง และน้ำหนักกดทับบนเรือนร่างที่ไร้อาภรณ์สวม เป็นความเคยชินที่ เก๋สาววัยกลางคนต้องพานพบซ้ำแล้วซ้ำอีกวันละหลายๆ รอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หัวใจหญิงสาวแตกสลายไปนานแล้ว ตั้งแต่ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจกามอารมณ์เมื่อหลายปีก่อน ทุกวันนี้เธอพร้อมมีเซ็กส์กับใครก็ได้ ขอเพียงให้คนผู้นั้นมีเงินมาแลกกับมัน เก๋ อาศัยเงามืดของต้นมะขามริมสนามหลวงฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อำพรางริ้วรอยความบอบช้ำของชีวิต ต่างจากเด็กสาวกลุ่มใหญ่ที่ยืนทอดน่องต่อรองราคากับหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ถัดออกไปจากเธอประมาณ 20 เมตร เด็กกลุ่มนั้นอายุเฉลี่ยไม่น่าเกินสิบสามสิบสี่ปี จึงกล้าเผชิญแสงไฟส่องสว่างอย่างไม่สะทกสะท้าน
             ทุกค่ำคืนเธอจึงต้องอาศัยเงามืดของต้นไม้เป็นทำเลหลอกล่อชายตาถั่วหอบหิ้วเข้าโรงแรม ทุกวันหลังจากส่งลูกค้ารายสุดท้ายขึ้นสวรรค์เรียบร้อยแล้ว เก๋ จะหอบร่างอันไร้เรี่ยวแรงกลับเข้าห้องเช่า และทันทีที่หัวถึงหมอนเธอจะหลับเป็นตาย ก่อนจะตื่นขึ้นมาสู้ชีวิตต่อในเช้าวันรุ่งขึ้น  เว้นเสียแต่วันที่มีประจำเดือน ห้องเช่าแคบๆ ห้องนี้จึงเป็นที่ซุกหัวนอนของหญิงสาวตลอดวันและคืน  มีบางครั้งที่หนุ่มน้อยมือใหม่หัดขับ เจียดเงินค่าขนมที่ผู้ปกครองให้มาแลกซื้อประสบการณ์ชีวิต หรือที่เรียกกันว่า ขึ้นครูเด็กพวกนี้เขาไม่ชอบสวมปลอกนิรภัย ต้องปลอบต้องขู่สารพัดจึงยอมสวมใส่ บางรายดื้อไม่ยอมทำตามก็จะคว้าเจลหล่อลื่นมาถือไว้ในมือ และบอกกับพวกเขาว่าเป็นยาฆ่าเชื้อ
             หากทะว่าแต่ภาพเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกลับหายไปในช่วงเวลาระยะหลังมานี้  โชคชะตาทำให้เหล่าบรรดาผีมะขาม ผีขนุน ต้องอพยพแหล่งทำมาหากินผ่านธุรกิจกามอารมณ์นี้จากท้องสนามหลวงม่านฉากที่ปิดลงทำให้บรรดาผู้คนเหล่านี้ต่างต้องระหองระแหง อพยพย้ายถิ่นทำมาหากินของตนเองไปยังสะพานพุทธยอดฟ้า ด้วยเหตุที่ทำให้ม่านฉากโรงละครชีวิตที่ต้องรูดปิดลงเนื่องจากทางกรุงเทพมหานคร
นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้จัดเปิดโครงการปรับปรุงท้องสนามหลวง ตั้งแต่ต้นปี 2553 ที่ผ่านมา จนกระทั่งได้มีพิธีเปิดเมื่อ 9 สิงหาคม 2554 ซึ่งในการปิดปรับปรุงท้องสนามหลวงในครั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้มีการวางมาตรการในการดูแลพื้นที่โดยรอบพื้นที่ของท้องสนามหลวงโดยไม่อนุญาตให้วางแผงร้านค้า และ การค้าประเวณีเกิดขึ้นเฉกเช่นแต่ก่อน
             นี่คือละครชีวิตที่ไม่มีวันจบวันสิ้นของ โสเภณี แห่งท้องสนามหลวง ไม่ใช่เพียงร่างกายที่ถูกย่ำยี แต่ผู้หญิงเหล่านี้ยังถูกเหยียบย่ำทำลายความรู้สึกและศักดิ์ศรีจนแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์มาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่หากได้นั่งลงพูดคุยด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เราอาจพบคำตอบว่า โสเภณีสนามหลวง ก็คือหนึ่งในเหยื่อที่สะท้อนซากปรักหักพังของระบบสังคม เช่นเดียวกับอีกหลากหลายชีวิตที่โลดแล่นอยู่บน โรงละครชีวิต ที่ชื่อว่า ท้องสนามหลวง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามขอให้เชื่อว่า เส้นทางสายนี้ ไม่ใช่ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของผู้หญิงคนไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น