วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อนาคตเส้นทางการศึกษาของเยาวชน ทางเลือกที่ต้องการผู้ชี้นำ

การศึกษาของไทยในปัจจุบัน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนไทย ซึ่งหากเปรียบเทียบการศึกษาแล้ว การศึกษาคงเปรียบเสมือนถนนหนทางที่นำเราไปสู่จุดมุ่งหมายในวันข้างหน้า หากแต่ถนนหนทางนั้นไม่ได้มีเพียงเส้นทางเดียวที่จะพาเราไปสู่จุดมุ่งหมาย เฉกเช่นเดียวกับการศึกษาที่มีเส้นทางหลายสายให้เราได้เลือกและแต่ละเส้นทางจะมีอุปสรรคต่าง ๆ นานา ถ้าหากเราเลือกผิดเส้นทาง เราอาจจะหลงทางและไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างล่าช้า หรือหากไปถึงก็อาจจะไม่มีที่ว่างให้สำหรับเราก็เป็นได้
            ในปัจจุบันประเทศของเรามีทางเลือกทางการศึกษาให้เลือกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาในระบบ ซึ่งแบ่งออกเป็น การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ระดับประถมจนถึงระดับมัธยมปลาย และการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา คือ ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยการศึกษาในระบบนั้นจะเป็นการศึกษาที่มีรูปแบบและระบบแบบแผนชัดเจน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ หลักสูตรวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดผล และการประเมินผลที่แน่นอน อีกทางก็คือ การศึกษานอกระบบ เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผลที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ คือ สายสามัญ สายอาชีพ และ สายความรู้ทั่วไป และทางเลือกสุดท้าย เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย คือการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อมหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ
            ส่วนใหญ่แล้วระบบที่ได้รับการตอบรับในประเทศของเรามากที่สุด คือ การศึกษาในระบบ เพราะมีรูปแบบ หลักสูตร การวัดผลที่แน่นอนกว่าระบบอื่น ๆ การเรียนการสอนทั่วไปของหลักสูตรการศึกษาในระบบ คือจะเน้น 8 กลุ่มสาระวิชาเป็นหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปะ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ก็ต้องมีทางแยก เพื่อให้เราเลือกว่าจะไปทางไหนจึงจะถึงจุดมุ่งหมายที่เราได้วางไว้ หรือ เป็นการตีกรอบความต้องการของตัวเองให้แคบลงนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วระบบการศึกษาของประเทศเรานั้นหลังจากจบมัธยมต้นแล้วเด็กทุกคนจะต้องเลือกทางของตนเองว่า จะเรียนต่อสายสามัญ คือ ต้องเลือกสายวิชา ด้านวิทย์-คณิต ,อังกฤษ-คณิต หรือ ศิลป์ภาษา หรือ สายอาชีพก็จำเป็นต้องเลือกสาขาวิชาที่เราต้องการจะเรียน
           
หลังจากเลือกสายวิชาได้แล้ว ระบบการศึกษาจะกำหนดทิศทางให้เรา ในการให้ความสำคัญกับเนื้อหาของกลุ่มวิชาที่เราเลือกไว้ เพื่อกำหนดทิศทางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ซึ่งถึงจุดนี้ จะมีปัจจัยหลายๆอย่างที่จะเป็นกำหนดทิศทาง ซึ่งเปรียบเสมือน เนวิเกเตอร์ บนรถยนต์ ที่เป็นตัวบอกทิศทางให้เราสามารถเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้ไปสู่จุดมุ่งหมาย แต่ทว่า ปัจจัยทั้งหลายนั้น มีมากกว่าหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งได้2ปัจจัยใหญ่ๆคือ ปัจจัยภายใน ซึ่งเป็นปัจจัยที่แสดงถึงความต้องการของตัวเด็กนักเรียน ว่าเด็กต้องการเดินไปในทิศทางใด แต่ จะมีปัจจัยภายนอก ที่มาช่วยเสริม หรือ กำหนดทิศทางให้ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้ 1.สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง เพราะค่านิยมในปัจจุบันมีสูง หากเด็กคนใดได้เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เด็กเหล่านั้นมีศักยภาพสูง 2.มิตรสหาย ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง โดยเป็นการคิดตามเพื่อนฝูงซึ่งอาจจะนำไปสู่การหลงทางก็เป็นได้   3.เหล่าบรรดาผู้ปกครอง ที่สร้างแรงกดดัน หรือ กำหนดทิศทางให้ลูกเป็นไปในสิ่งที่ผู้ปกครองอยากให้เป็น 4.ครูบาอาจารย์ การสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้เด็กเกิดมีอคติกับวิชา และ หลักสูตรการศึกษาต่างๆ  5.อาชีพ เป็นตัวเลือกในอนาคตที่อยากจะเป็นและประกอบอาชีพนั้นๆ ซึ่งเป็นตัวชี้นำในการเลือกเรียนสาขาวิชาต่างๆ   
สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความคิดด้านทางเลือกของตัวเด็ก แต่จะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบวงกว้างทางการศึกษา ซึ่งมีอยู่ 5 ปัจจัยคือ 1. ปัจจัยด้านเทคโนโลยี การส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสังคมในปัจจุบันและในอนาคต มีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในการศึกษานั้น ก่อให้เกิดทั้งผลดี และผลเสียในกรณีนำมาใช้งานไม่ตรงตามความต้องการ  และการใช้เทคโนโลยีในกิจวัตรประจำวันหรือใช้ในการเรียนการสอนทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ลดลง ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางอารมณ์ ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวที่นับวันจะทวีรุนแรงมากขึ้น จึงควรกำหนดรูปแบบในการสอนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องว่างระหว่างครูกับลูกศิษย์ หรือถ้าหากบุคลากรที่ให้ความรู้ ไม่มีความสามารถมากพอที่จะมอบประสบการณ์ด้านต่างๆให้กับเด็ก ก็เท่ากับว่าเป็นการลงทุนทางการศึกษาเสียเปล่า และเด็กอาจจะไม่ได้นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นได้
 2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดแรงงานและตลาดการศึกษา เนื่องจากการกำหนดลักษณะของแรงงานที่ต้องการ เมื่อมีการกำหนดลักษณะแรงงานที่ต้องการ ทำให้เกิดการแข่งขันทางการศึกษาเกิดขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานล่าสุดเดือน กรกฎาคม  2554 มีทั้งสิ้น 206,000  คน จากข้อมูลผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับเดือน กุมภาพันธ์แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงก็ตาม โดยมีจำนวนถึง 100,000 คน รองลงมามัธยมศึกษาตอนปลาย 47,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 38,000 คน และระดับประถมศึกษา 13,000 คน
จากสถิติสามารถชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตการแข่งขันทางการศึกษา จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะพัฒนาประเทศ เพราะการที่จะพัฒนาประเทศได้นั้น ต้องพึ่งพา บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถในหลายๆด้านเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านการศึกษาของเยาวชนไทย จนลืมมองในด้านการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็ก
3. ปัจจัยด้านระบบราชการ ที่มีความล่าช้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานที่ยึดกฎระเบียบตายตัว ขาดความยืดหยุ่น ที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของผู้บริหารการศึกษารวมถึงครูบางส่วนที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับการทำงาน ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้กับเด็ก และใกล้ชิดมากที่สุดในการศึกษา คือ ครู
4. ปัจจัยด้านการเมือง กล่าวกันว่าการปฏิรูปหรือพัฒนาการจัดการศึกษาจะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองมากกว่าแนวทางและวิธีการ แต่หากการเมืองไทยมีเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรคก็จะส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บ่อยครั้ง อาจทำให้การดำเนินนโยบายการพัฒนาการศึกษาไม่ต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งหลายอาจทำให้เด็กสับสนในแนวทางการศึกษา เช่น การเปลี่ยนระบบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง ทำให้การเตรียมตัวของเด็กเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจากที่เตรียมตัวไว้แล้ว
5. ปัจจัยด้านวัฒนธรรม สังคมไทยมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหลายประการ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ดังนี้
-ขาดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม สังคมไทยในปัจจุบันขาดความเหนียวแน่น ความร่วมแรงร่วมใจ คนในสังคมจึงมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่เกี่ยวกับตนเอง
-รักความสนุกและความสบาย คนไทยส่วนใหญ่มักสนใจความบันเทิงมากกว่าการแสวงหาความรู้จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
-สังคมอุปถัมภ์ สังคมไทยยังคงมีลักษณะสังคมอุปถัมภ์ เห็นแก่พวกพ้องของตนมากกว่าส่วนร่วม ผู้ที่มีอำนาจสูงมักแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องโดยที่ประชาชนไม่กล้าขัดขวางหรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะต้องพึ่งพาอาศัย ดังนั้น เมื่อมีการกระจายอำนาจทางการศึกษาอาจกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพลได้หากไม่มีการตรวจสอบให้แน่ชัด
-ขาดการเปิดกว้างทางความคิดและการรับฟังความเห็นของผู้อื่น สังคมไทยมีค่านิยมเดิมว่า การมีความคิดที่แตกต่างหรือการเป็นแกะดำ ถือเป็นสิ่งไม่ดีมองผู้ที่คิดแตกต่างเป็นศัตรู และพยายามหักล้างความคิดที่แตกต่างนั้นซึ่งมักกระทำโดยใช้อารมณ์มิได้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้งซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้เรียนที่ปัจจุบันมุ่งสร้างคนให้คิดเป็นทำเป็น

             จากการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการศึกษาไทยต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่ทั้งในด้าน วิชาการ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และ สังคม  แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ควรจะพัฒนาควบคู่กับสิ่งเหล่านี้ คือ คุณธรรม จริยธรรมให้แก่ตัวเด็ก เพื่อประเทศชาติจะได้พัฒนาควบคู่กันไป การมีบุคลากรที่มีคุณภาพแต่ไร้ซึ่งคุณธรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับ การมีเงินอยู่ในมือแต่ใช้ไม่เป็น หากปล่อยให้ระยะเวลาเลยผ่านไปเงินก็อาจะหมดลง เปรียบเสมือนการมีบุคลากรที่มีความสามารถแต่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรมประเทศก็จะคุกคาม ด้วยความโลภ ความเห็นแก่ตัวความเห็นแก่ได้นั่นเอง
            ฉะนั้นเนวิเกเตอร์ หรือผู้นำทางของเราไม่ว่าจะเป็น ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ที่มีหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาควรจะเป็นผู้ชี้ทางที่ดี ใช้เหตุและผล มากกว่าการปูทางให้เดินเพียงอย่างเดียว โดยไม่แนะนำให้เด็กได้รู้ ทางเดินที่ดีเป็นอย่างไร ทางเดินที่แย่เป็นอย่างไร เด็กก็เปรียบเสมือนกับผ้าขาว ถ้าหากต้องการให้การศึกษามีการพัฒนาไปในทางที่ดี ก็ควรเริ่มจากการเติมสิ่งที่ดี  เหมาะสมกับเด็กในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ผ้าขาวนั้นซึมซับสิ่งที่เรามอบให้ และนำไปพัฒนาสู่อนาคต






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น