วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภัยร้ายใกล้ตัว สื่ออนาจาร ไอดอลที่เด็กเลียนแบบ



ภัยร้ายใกล้ตัว สื่ออนาจาร ไอดอลที่เด็กเลียนแบบ      

กระแสยอดเข้าชมขึ้นสูง กด Like ของคลิปอนาจาร เป็นการส่งเสริม หรือ ซ้ำเติม?

สื่ออินเตอร์เน็ตนับว่าเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญทางการสื่อสาร ปัจจุบันสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Social network หรือ เว็บไซต์ต่างๆ มีอิทธิพลอย่างมากในชีวิตประจำวันของพวกเรา ไม่ว่าจะรับข่าวสาร ค้นหาข้อมูลได้ในทุกเรื่อง และเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาอยู่ในยุคเทคโนโลยีอันล้ำสมัย สามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆนานาได้ภายในพริบตาเดียวเพียงแค่ปลายนิ้วคลิ๊ก ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้ง่าย โดยอาจใช้บริการของร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วไป หรือในที่พักอาศัยเอง ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตก็มีทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม
กระแสสังคม พฤติกรรมการกด  LIKE  ในยุคปัจจุบันนี้เราสามารถเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็น social network ต่างๆ รวมไปถึงเว็บไซต์ เช่น Youtube การกด LIKE ถ้าแปลความหมายกันอย่างตรงตัว นั่นหมายถึงผู้คนที่เข้ามาชมนั้นมีความชอบส่วนตัวกับข้อความ รูปภาพ หรือ คลิปวิดีโอ แต่พฤติกรรมการกด LIKE ของคนไทยนั้นกลับสวนกระแส และ เหมือนเป็นการส่งเสริมสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราหยิบยกกระแสคลิป จ๊ะ วงเทอร์โบเจ้าของเพลง คันหูขึ้นมา ท่านผู้อ่านคงถึงบางอ้อถึงกระแสความแรงของคลิปนี้ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ เป็นเรื่อง ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในสังคมไทยกันเลยทีเดียว เพียงแค่มีผู้หญิงแต่งตัวโป๊ มายืนเต้น และร้องเพลง อะไรถึงทำให้เกิดกระแสผู้เข้าชมอย่างล้นหลามยอดคนดูใน Youtube พุ่งกว่า 17 ล้านวิว และมีการอัพเดทคลิปเพลง คันหูแต่เป็นคนละเวอร์ชั่นอรกหลายคลิป จนกระทั่งลามไปถึงหมู่เด็กและวัยรุ่นที่แห่กันเข้ามาชม กดไลค์กันอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าเหมาะสมหรือไม่  จากกระแสสังคมที่ให้ความสนใจจึงทำให้เกิด “พฤติกรรมการเลียนแบบ” ของเด็ก
พฤติกรรมการเลียนแบบเกิดจากการที่ตัวเด็กได้รับรู้ว่า หากทำพฤติกรรมเช่นนี้ตนเองจะกลายเป็นที่รู้จักสังคมในหมู่มาก โดยที่ไม่สนว่าจะถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางไหน ขอเพียงให้ตนเองได้เป็นที่รู้จัก เช่นพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กนักเรียนหญิงมัธยมต้นเต้นเปลื้องผ้ากลางห้องเรียนที่เป็นข่าว และยังมีพฤติกรรมการเปลื้องผ้าถ่ายรูปหมู่ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน การตีความที่ผิดๆของเด็กว่าถ้ากระทำเช่นนี้แล้วตนเองจะเป็นที่รู้จักของสังคม และมิหนำซ้ำ ยังมีการ อัพโหลดคลิปวิดีโอลงเว็บไซต์social media อย่างกว้างขวางและมีการ แชร์ต่างๆนานา ภายในชั่วข้ามคืน การกระทำดังกล่าวก็กลายเป็นที่ให้ความสนใจของสังคมไทยไปแล้ว พร้อมทั้งมียอดกด LIKE จำนวนมหาศาล แต่ทิศทางในการวิพากษ์วิจารณ์นั้นพวกเราคงรู้กันดีว่าไม่มีออกมาในแง่บวกเลย
เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้รับรู้ว่า กระแสสังคมที่ทำให้ยอดผู้เข้าชมพุ่งกระฉูด พร้อมวัฒนธรรมการกด LIKE ของคลิปต่างๆนานา สวนทางกับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ ที่มุ่งกล่าวให้เห็นถึงความวิบัติจากพฤติกรรมการลอกเลียนแบบของเด็กและเยาวชน ซึ่งสังคมไทยต้องเล็งเห็นถึงความเป็นจริง การกระทำเช่นนี้ เหมือนเป็นการที่เราไปสนับสนุนให้คนลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ และทำไมเราถึงต้องกด LIKE และติดตามคลิปการแสดงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สังคมเราควรจะมีการสนับสนุนอะไรบ้างที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอนาคตของชาติ เราควรจะปลูกฝังสิ่งใดให้กับเด็ก และระเบียบวิธีการปลูกฝั่งควรจะเป็นไปในทิศทางใด   
                การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วคงจะเป็นเรื่องยาก แต่เราควรจะมุ่งการแก้ไขไปที่อนาคตว่าจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร เด็กนั้นก็เปรียบเสมือนผ้าขาว มีวิจารณญาณในการไตร่ตรองที่ต่ำ ไม่สามารถเข้าใจถึงสภาวะกระแสสังคมในปัจจุบันได้ เพียงแต่เด็กนั้นกระทำสิ่งต่างๆด้วยอารมณ์ ความรู้สึกโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาในภายภาคหน้า เช่นเดียวกับคำที่ว่า “สิ่งไม่ดีเป็นสิ่งที่เลียนแบบง่ายกว่าสิ่งที่ดี” การที่สังคมยังมีพฤติกรรมกระแสเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการส่งเสริมให้เด็กนั้นทำในสิ่งที่ผิดๆ เราควรจะเติมสีที่สวยงาม และ เป็นแบบแผน ให้กับเด็ก ไม่ใช่เพียงสาดสีสันลงไปบนผ้าขาว เติมอะไรลงไปอย่างใจนึก มิเช่นนั้น กระแสข่าวการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิดๆ ก็จะค่อยๆทยอยออกมาให้เราได้เห็น และอาจจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น